อยากทานพรีไบโอติกช่วยลำไส้ อ่านบทความนี้

1167 จำนวนผู้เข้าชม  | 

บุก (Konjac)

       Konjac หรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “บุก” นั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amorphophallus spp, เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี โดยต้นบุกจะออกดอกในช่วงต้นฤดูฝนและเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งลำต้นของบุกจะแห้งเหี่ยวไป เหลือไว้เพียงส่วนหัวใต้ดินซึ่งมีหน้าที่สะสมอาหาร โดยมีทั้งหัวกลม หัวยาว ทรงกระบอก หรือคล้ายหัวมันแกว ซึ่งบุกเป็นพืชที่เจริญแบบถ่ายหัว กล่าวคือเมื่องอกต้นใหม่ในฤดูถัดไป หัวเก่าจะฝ่อและมีการสร้างหัวใหม่ขึ้นมา การที่บุกสามารถเจริญโดยใช้หัวทำให้มีการกระจายพันธุ์อยู่ในหลายภูมิภาคของทวีปเอเชีย แอฟริกา และออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศไทย1 ซึ่งบุกที่พบในไทยนั้นมีมากมายกว่า 68 ชนิด โดยเฉพาะภาคเหนือของไทยที่มีถึง 41 ชนิด ซึ่งพบบนพื้นที่สูงในจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และน่าน โดยบุกชนิดที่สำคัญยกตัวอย่างเช่น บุกคางคก บุกเกลี้ยง บุกหูช้าง บุกรอ2  โดยเฉพาะบุกเนื้อทรายหรือบุกไข่ซึ่งมีความต้องการสูงทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากในบุกนั้นมีสารสำคัญคือกลูโคแมนแนนอยู่สูงถึงร้อยละ 40 ถึง 70 ซึ่งกลูโคแมนแนนนี้เป็นโมเลกุลของคาร์โบไฮเดรตสายยาวที่ต่อกันด้วยน้ำตาลกลูโคสและแมนโนส โดยเราจะเรียกกลูโคแมนแนนว่าเป็นคาร์โบไฮเดรต ประเภทพอลิแซ็กคาไรด์3

      การใช้ประโยชน์จากกลูโคแมนแนนนั้นมีหลากหลายด้าน เช่น ทางด้านเคมีภัณฑ์ เภสัชกรรม เทคโนโลยีชีวภาพ แต่ที่นิยมคือการใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เนื่องจากเมื่อนำกลูโคแมนแนนมาละละลายน้ำจะได้สารที่มีลักษณะข้นหนืดซึ่งสามารถใช้เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทอิมัลชัน เช่น ไอศกรีม วิปปิ้งครีม เนยแข็ง หรือสามารถใช้เป็นสารที่ทำให้เกิดเจลในแยมกับเจลลี่ และยังสามารถขึ้นรูปให้เป็นตามที่ต้องการได้จึงมีการทำเป็นผลิตภัณฑ์บุกแบบต่างๆเช่น บุกเส้น บุกก้อน หรือ บุกรูปข้าว นอกจากนี้ความสำคัญของกลูโคแมนแนนอีกอย่างหนึ่งคือสมบัติเชิงสุขภาพที่จัดอยู่ในประเภทเส้นใยอาหารซึ่งไม่ให้แคลลอรี่ สามารถใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้เพราะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและระดับไขมันในเส้นเลือด นอกจากนี้ด้วยความที่กลูโคแมนแนนเป็นเส้นใยอาหาร ทำให้มีคุณสมบัติในการช่วยขับถ่ายและใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อการลดน้ำหนัก3 และยังมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่ากลูโคแมนแนนจากบุกมีคุณสมบัติที่สามารถใช้เป็นพรีไบโอติกได้อีกด้วย4

       โดยทั่วไปแล้วจุลินทรีย์มีทั้งชนิดที่ก่อโรคและชนิดที่สร้างประโยชน์ต่อร่างกาย หนึ่งในกลุ่มจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์คือจุลินทรีย์กลุ่มที่เรียกว่า โพรไบโอติก จุลินทรีย์กลุ่มนี้มีคุณสมบัติพิเศษที่เมื่อได้รับประทานเข้าไปจะไปลดจำนวนจุลินทรีย์ก่อโรคที่อยู่ในทางเดินอาหาร โดยกลไกการยับยั้งนั้นคือการเข้ายึดเกาะกับผนังลำไส้และสร้างสภาพวะที่เหมาะสมแก่การเจริญเติบโตของโพรไบโอติกขึ้นมา อีกนัยหนึ่งคือหลั่งกรดแลกติกหรือสารยับยั้งการเจริญเติบโดที่ชื่อว่าแบคเทอริโอซิน ส่งผลให้ผนังลำไส้บริเวณที่มีโพรไบโอติกตั้งถิ่นฐานอยู่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อก่อโรค นอกจากนี้การที่มีโพรไบโอติกในทางเดินอาหารยังส่งผลให้มีการย่อยอาหารที่ดีขึ้น และผลลัพธ์จากการย่อยอาหารเหล่านั้นนอกจากจะทำให้มีการขับถ่ายที่ดีขึ้นแล้วยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย ลดคลอเรสเตอรอลในเลือด ยับยั้งการสร้างสารก่อมะเร็ง และช่วยในการดูดซึมสารอาหารรวมทั้งวิตามินได้ดีขึ้นด้วย โดยโพรไบโอติกนั้นจะมีการเจริญที่ดีขึ้นหากได้รับสารอาหารในกลุ่มพรีไบโอติก กล่าวคือพรีไบโอติกคืออาหารของโพรไบโอติกที่จะช่วยยั้บยั้งการเจริญของเชื้อก่อโรคและส่งเสริมการเจริญของโพรไบโอติก ตัวอย่างพรีไบโอติกที่สำคัญเช่นอินูลิน ฟรุกโตโอลิโกแซ็กคาไรด์ หรือแม้แต่ กลูโคแมนแนนจากบุก ซึ่งมีคุณสมบัติที่สำคัญคือการไม่ถูกย่อยด้วยเอนไซม์ในร่างกายมนุษย์ ทำให้กลูโคแมนแนนไม่ถูกดูดซึมและไม่ให้พลังงานในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น แต่เมื่อถูกลำเลียงไปสู่ลำไส้แล้วจะเกิดการย่อยโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ กลายเป็นอาหารของโพรไบโอติก นอกจากส่งเสริมการเจริญของโพรไบโอติกแล้วตัวพรีไบโอติกเองยังอุดมไปด้วยใยอาหารที่จะส่งเสริมการขับถ่ายอีกต่อหนึ่ง และประโยชน์จากการย่อยพรีไบโอติกเพื่อให้ได้สารอาหารที่โพรไบโอติกนำไปใช้จะได้กรดไขมันสายสั้นซึ่งจำเป็นต่อร่างกายหลายชนิด เช่นกรดบิวทิริกที่ช่วยซ่อมแซมผนังลำไส้ กรดโพรพิโอนิกที่จะเป็นพลังงานให้ตับและควบคุมการบีบตัวของลำไส้ กรดแอซิติกช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมและแมกซีเซียมซึ่งจะลดความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุน

ขอบคุณข้อมูลจาก : ดร. พุทธาพงศ์ ภูมิสมบัติ และ รศ.ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล

  • การใช้ประโยชน์จากฐานชีวภาพของพืชสกุลบุกในพื้นที่ทองผาภูมิ. กลุ่มวิจัยพฤกษศาสตร์และพิพิธภัณฑ์, สำนักคุ้มครองพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร. 2562. https://www.doa.go.th/pvp/wp-content/uploads/2020/09/Amorphophallus-spp..pdf.

  • "บุก" แต่ไม่รุกป่า. สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง. 2564. https://www.hrdi.or.th/Articles/Detail/141.

  • คู่มือ การใช้ประโยชน์จาก บุก. สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร. 2559. https://www.arda.or.th/datas/file/frman06.pdf.

  • การพัฒนาผลิตภัณฑ์เยลลี่พร้อมดื่มจากผงบุกกลูโคแมนแนนที่มีสมบัติซินไบโอติกเพื่อผู้สูงอายุ : รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์. อรชร เมฆเกิดชู และ ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล. 2560. http://ebook.lib.kmitl.ac.th/library/book_detail/09027006.

Powered by MakeWebEasy.com